|
คณะกรรมการ และโครงสร้างการบริหารงาน
สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคณะเทคนิคการแพทย์ จำกัด |
โครงสร้างการบริหารงาน
|
อำนาจ หน้าที่ของที่ประชุมใหญ่
1. รับทราบเรื่องรับสมาชิกเข้าใหม่สมาชิกออกจากสหกรณ์ฯ การเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกและวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้สมัคร ซึ่งมิได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิก และสมาชิกที่ถูกให้ออกจากสหกรณ์ฯ
2. พิจารณาเลือกตั้งและถอดถอนกรรมการดำเนินการและผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ฯ
3. พิจารณาอนุมัติงบดุลและจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ฯ
4. รับทราบรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ คณะกรรมการดำเนินการ และผู้ตรวจสอบกิจการ
5. พิจารณากำหนดบำเหน็จ ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานของกรรมการดำเนินการ หรือกรรมการอื่นๆ และผู้ตรวจสอบกิจการ
6. พิจารณากำหนดวงเงินซึ่งสหกรณ์ฯ อาจกู้ยืมหรือค้ำประกัน
7. พิจารณาอนุมัติแผนงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสหกรณ์ฯ
8. พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
9. พิจารณาการแยกสหกรณ์ฯ
10. กำหนดค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าเช่าที่พัก และค่าเบี้ยประชุมของกรรมการดำเนินการ กรรมการอื่นๆ ที่ปรึกษา และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์
11. รับทราบเรื่องการดำเนินงานของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และ ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด ที่สหกรณ์ฯ นี้เป็นสมาชิกอยู่
12. วิเคราะห์และปฏิบัติตามบันทึกหรือหนังสือของนายทะเบียนสหกรณ์ รองนายทะเบียนสหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ ผู้สอบบัญชีและพนักงาน เจ้าหน้าที่ ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย
13. กำหนดรูปการซึ่งสหกรณ์ฯ คิดจะทำเป็นเครื่องเกื้อกูลหนุนบรรดาสมาชิกตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ฯ |
คณะกรรมการและอำนาจหน้าที่
สมาชิกในที่ประชุมใหญ่จะเลือกคณะกรรมการออกเป็น 2 ชุด คือ
- คณะกรรมการดำเนินการ
- คณะผู้ตรวจสอบกิจการ
|
คณะกรรมการดำเนินการ
เป็นคณะที่รับผิดชอบการดำเนินงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนโดยการควบคุมดูแลและบริหารงาน ในด้านต่างๆ ให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ฯ โดยคณะกรรมการดำเนินการจะแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบกันเป็น 3 คณะย่อย คือ
1. คณะกรรมการอำนวยการ (อำนาจหน้าที่ตามข้อบังคับ)
- พิจารณาดำเนินการในเรื่องการรับสมาชิก และสมาชิกออกจากสหกรณ์ฯ ตลอดจนการดูแลให้สมาชิกปฏิบัติการต่างๆ ตามกฎหมายข้อบังคับระเบียบ และมติของสหกรณ์ฯ
- ควบคุมในเรื่องการรับเงิน การจ่ายเงิน การสะสมเงิน การฝากเงิน หรือการเก็บเงินให้เป็นไปตามข้อบังคับ และระเบียบสหกรณ์ฯ
- ควบคุมดูแลจัดทำบัญชีและทะเบียนต่างๆ ของสหกรณ์ฯ ให้ถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบันเสมอ
- ควบคุมดูแล เก็บรักษาหลักฐานต่างๆ ตลอดจนทรัพย์สินของสหกรณ์ฯ ให้อยู่สถานภาพอันดีและปลอดภัย และพร้อมที่จะนำมาให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบได้ทันที
- เสนอแนะคณะกรรมการดำเนินการปรับปรุง หรือแก้ไข
การบริหารงานของสหกรณ์ฯ
- ควบคุมดูแลการจัดทำงบดุล รวมทั้งบัญชีกำไรขาดทุน และรายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ เสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเสนอต่อที่ประชุมใหญ่อนุมัติ
- พิจารณาจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ฯ เสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเสนอให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาอนุมัติ
- พิจารณาแผนงานและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสหกรณ์ฯ เสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเสนอที่ประชุมใหญ่พิจารณาอนุมัติ
- ทำนิติกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย
|
2. คณะกรรมการเงินกู้ (อำนาจหน้าที่ตามข้อบังคับ)
-
ตรวจสอบการใช้เงินกู้ของสมาชิกให้เป็นไปตามความมุ่งหมาย
-
ตรวจสอบ ควบคุมการให้เงินกู้แก่สมาชิกให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์ และเมื่อเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้
รายใดเกิดบกพร่องก็ต้องกำหนดให้ผู้จัดการแก้ไขให้ เป็นไปตามข้อกำหนดฯ
- ดูแลและติดตามการชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา
- สอบสวนเบื้องต้นให้ได้ข้อความจริง ในกรณีสมาชิกผู้กู้ขอผ่อนผันเวลาการส่งเงินงวดชำระหนี้หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ เพื่อเสนอความเห็นให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาผ่อนผัน หรือเรียกคืนเงินกู้ หรือสอบสวนลงโทษให้สมาชิกออกจากสหกรณ์ฯ
|
3. คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์
(อำนาจหน้าที่ตามข้อบังคับ)
- ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่สมาชิก โดยให้การศึกษาและอบรมแก่สมาชิก และผู้ที่สนใจให้ทราบถึงเจตนารมณ์ หลักวิธีการ และการบริหารงานสหกรณ์ฯ
- ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข่าวสาร ความรู้เกี่ยวกับลักษณะประโยชน์รวมทั้งผลงานของสหกรณ์ฯ ให้สมาชิกและบุคคลภายนอกรับทราบ
- ดำเนินการในการหาผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกและเยี่ยมเยียนสมาชิกเป็นครั้งคราว
- ให้การศึกษาอบรมและเผยแพร่แก่สมาชิกถึงวิธีการออมทรัพย์และการใช้จ่ายเงินอย่างรอบคอบ ตลอดจนวิชาการต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ
- ศึกษาและติดตามข่าวความเคลื่อนไหวด้านการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อนำตัวอย่างที่ดีมาเสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณานำมาบริการแก่สมาชิกตามความเหมาะสม
|
คณะผู้ตรวจสอบกิจการ (อำนาจหน้าที่ตามข้อบังคับ)
- ตรวจสอบเอกสาร สรรพสมุด บัญชี ทะเบียน และการเงิน ตลอดจนทรัพย์สิน หนี้สินทั้งปวงของสหกรณ์ฯ เพื่อทราบฐานะและข้อเท็จจริงของสหกรณ์ที่เป็นของสหกรณ์ฯ ที่เป็นอยู่จริง
- ตรวจสอบหลักฐานและความถูกต้องของการดำเนินธุรกิจแต่ละประเภทของสหกรณ์ฯ เพื่อประเมินผล และอาจให้ข้อแนะนำแก่คณะกรรมการดำเนินการ ผู้จัดการ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของสหกรณ์ฯ ทั้งทางวิชาการและทางปฏิบัติในกิจกรรมนั้นๆ
- ตรวจสอบการจัดจ้าง และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ฯ ตลอดจนหนังสือสัญญาจ้างและหลักประกัน
- ตรวจสอบการปฏิบัติงานตามแผน และการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายของสหกรณ์ฯ
- ติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการดำเนินการ เพื่อพิจารณาหาทางปรับปรุงแผนงาน ข้อบังคับ ระเบียบ มติ ตลอดจนคำสั่งต่างๆ ของสหกรณ์ฯ
- ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของ สหกรณ์ฯ หรือกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้เกิดผลดีแก่การดำเนินกิจกรรมของสหกรณ์ฯ
|
กำหนดเวลาอยู่ในตำแหน่ง
คณะกรรมการดำเนินการ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้งวาระแรก ให้กรรมการดำเนินการออกจากตำแหน่งเป็นจำนวน 1 ใน 2 ของกรรมการดำเนินการ โดยวิธีจับสลากและให้ถือเป็นการพ้นตำแหน่งตามวาระ ในปีต่อไปให้กรรมการดำเนินการที่อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระหรืออยู่นานที่สุดจากตำแหน่งสลับกันไปทุกๆ ปี คณะผู้ตรวจสอบกิจการ อยู่ในวาระคราวละ 1 ปี จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ทั้งคณะทุกปี
|
ควรเลือกบุคคลประเภทใดเข้าเป็นกรรมการ
- มีความซื่อสัตย์ สุจริต มั่นคง
- มีความประพฤติดี เป็นที่เชื่อถือของบุคคลทั่วไป
- มีความเสียสละ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่
- มีความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งได้รับมอบหมาย ได้เป็นอย่างดี
- มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง เพื่อความเจริญก้าวหน้า ของสหกรณ์ฯ
- มีจิตใจเป็นธรรมเป็นนักประชาธิปไตย เป็นต้นว่ายอมรับฟังความคิดเห็นของสมาชิก และรับพิจารณาด้วยดี
|
ห้ามบุคคลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นหรือทำหน้าที่กรรมการ
-
เคยได้รับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน กระทำโดยทุจริต
-
เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน ฐานะทุจริตต่อหน้าที่
-
เคยถูกนายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้พ้นตำแหน่งกรรมการดำเนินการ
-
เคยถูกที่ประชุมใหญ่มีมติถอดถอนออกจากตำแหน่งกรรมการดำเนินการเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่
-
สมาชิกซึ่งอยู่ระหว่างผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นเงินต้นหรือดอกเบี้ย หรือเข้าเป็นสมาชิกไม่ครบ 1 ปี
-
ผู้ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสหกรณ์ฯ นี้
|
กลับสู่หน้าหลัก |